ประวัติชมรมไทเก็กนครสวรรค์

ประวัติชมรมไทเก็กนครสวรรค์

.... เมื่อปี พ.ศ.2520 มีชาวปากน้ำโพ 10 ท่าน เห็นประโยชน์ของการรำมวยไทเก็ก จึงได้เชิญ "อาจารย์ ตั้ง ท่วง ง้วน" และ "อาจารย์ ลิ้ม ไซ่ หง" ซึ่งเป็นผู้สืบทอดวิชามาจาก "อาจารย์ ต่ง อิง เจี๋ย" มาเป็นผู้ฝึกสอน มวยไทเก็กตระกูลหยาง เป็นเวลา 2 ปี ....
.... จนถึงปี พ.ศ.2522 จึงได้ก่อตั้งชมรม โดยใช้ชื่อว่า "ทีมกายบริหารไท้เก็กมูลนิธิปากน้ำโพประชานุเคราะห์" ....
.... จนประมาณปี พ.ศ.2543 ในขณะที่ "คุณชวลิต ศรีประทักษ์" (เป็นสมาชิก 1 ใน 10 คนผู้ริเริ่มก่อตั้งชมรมฯ) เป็นประธานชมรมฯ "คุณมานิต อุดมคุณธรรม" ประธานชมรมหย่งเหนียนไท้จี๋ฉวนตระกูลหยาง ประเทศไทย ในขณะนั้น ได้ติดต่อมายัง "คุณสันติ คุณาวงศ์"  เพื่อแนะนำอาจารย์ผู้สอนมวยไทเก็กตระกูลหยางให้กับชมรมไทเก็กนครสวรรค์ ....
.... คุณมานิตได้แนะนำ "อาจารย์ เจ้า อิ้ว ปิ่น" ผู้สืบทอดมวยไทเก็กตระกูลหยาง รุ่นที่ 5 มาสาธิตการรำมวยไท้เก็ก 85 ท่า ณ ห้องต้นเจ้าพระยา ห้างสรรพสินค้าแฟร์รี่แลนด์ ....
.... ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 "อาจารย์ เจ้า อิ้ว ปิ่น" ได้ตอบรับคำเชิญของชมรมฯ มาสอนการรำมวยไทเก็ก ให้กับสมาชิกชมรมฯ โดยใช้เกาะกลางอุทยานสวรรค์ เป็นสถานที่ฝึกสอน ....
.... จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ที่ "อาจารย์ เจ้า อิ้ว ปิน" ได้เดินทางจากประเทศจีน เพื่อมาสอนให้กับชมรมฯ ....
.... ต่อมาทางชมรมฯ ได้รับการสนับสนุนจาก เทศบาลนคร นครสวรรค์ จัดสรรสถานที่ให้อยู่บริเวณประตู 5 ตรงข้าม โรงพยาบาลศรีสวรรค์ จึงได้ย้ายมารำมวย ณ ที่นี้ จนถึงปัจจุบัน และได้เปลี่ยนชื่อชมรมจากเดิมเป็น ชมรมไท้เก็กนครสวรรค์ เพื่อเปิดกว้างแก่ชาวนครสวรรค์ที่มีความสนใจ และง่ายต่อการเรียกและจดจำ ....
.... ในปี พ.ศ.2560  ชมรมไทเก็กนครสวรรค์ ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมวยไทเก็ก ในรายการ "100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์" กว่า 60 คน โดยการนำทีมของ พญ.สุรางค์รัตน์  วรรธนะภูติ ประธานชมรมในขณะนั้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  และได้รับรางวัลถ้วยรวม  เป็นที่น่าภาคภูมิใจของนักกีฬาและสมาชิกชมรมเป็นอย่างมาก
.... ในปี พ.ศ.2562 ทางชมรมไทเก็กนครสวรรค์ ได้รับเกียร์ติจาก อาจารย์ เจ้า อิ้ว ปิน ได้มอบโล่ห์ ประกาศ เกียรติคุณ ให้กับ คุณสุเทพ   คบคงสันติ(เจ็กบ๊วย) ในฐานะทูตแห่งการเผยแพร่มวยไทเก็ก และชมรมไทเก็กนครสวรรค์เป็นชมรมยอดเยี่ยม  ทางชมรมฯ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อชมรมที่เป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษใหม่  เพื่อเป็นเกียร์ติแก่ผู้เป็นอาจารย์  เป็น "ชมรมไทเก็กซีอานหย่งเหนียน สาขาปากน้ำโพ ประเทศไทย" (Paknampo Thailand Branch of Xi'an Yongnian Taijiquan Association) แต่ยังคงชื่อภาษาไทยไว้ดังเดิม คือ "ชมรมไทเก็กนครสวรรค์"
.... ในปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยพบกับสถานการณ์โควิด-19 คุณประพนธ์  อุดมทอง ประธานชมรมไทเก็กนครสวรรค์ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมหลายๆอย่าง เพื่อให้สอดคล้องต่อนโยบายของรัฐเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ในช่วงปีบริหารนี้ ทางชมรมได้มีการรวบรวมเงินบริจาคจากสมาชิก บริจาคให้แก่หน่วยงานต่างๆ หลายครั้ง เช่น โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ฯลฯ
.... ในปี พ.ศ.2565 คุณประพนธ์อุดมทอง ประธานชมรมฯ เห็นว่าทางประเทศไทย และทางการจีน มีการล็อคดาวน์ เหล่าซือไม่สามารถเดินทางมาสอนที่ประเทศไทยได้ จึงมีนโยบายให้เริ่มต้นการเรียนการสอนขึ้นในชมรมฯ โดยมอบหมายให้ คุณพิริยะ  คงคาวิทูร รับหน้าที่ในการสอนในช่วงเช้าหลังจากที่สมาชิกรำมวยประจำวันจบแล้ว วันละ 30- 40 นาที
.... วันอาทิตย์ที่ 13 พ.ย. 2565 ชมรมไทเก็กนครสวรรค์จัดงานไหว้ปรมาจารย์จางซานเฟิงที่ภัตตาคารเล่งหงษ์ และเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ตั้งแต่มีโควิด-19 ระบาดในเมืองไทย ที่ชมรมไทเก็กนครสวรรค์เชิญเพื่อนสมาชิกต่างชมรม มาร่วมงานไหว้ฯ โดยมีชมรมหย่งเหนียนฯ ชมรมไทเก็กชี่กงลาดยาว ชมรมไทเก็กมูลนิธิตาคลี ชมรมไทเก็กพิษณุโลก ชมรมไทเก็กอาจารย์กวง และชมรมไทเก็กชี่กงป้าบัวน้อยมาร่วมงาน บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น เป็นกันเองดังเช่นที่เราเคยมีมาตลอด
.... จากนโยบายของคุณประพนธ์  อุดมทอง ประธานชมรมไทเก็กนครสวรรค์ (ปี 2565-2566) มอบหมายให้คุณพิริยะ  คงคาวิทูร(เลขาฯและครูฝึก) คิดหลักสูตรการอบรมมวยไทเก็กตระกูลหยาง เพื่อเผยแพร่มวยไทเก็กตระกูลหยาง(สืบทอด) สายอ.เจ้าอิ้วปิน เพื่อพัฒนาบุคลากรของชมรมและเปิดให้ผู้ที่สนใจ และได้จัดการอบรมคั้งแรกขึ้น ในวันที่ 18-19 มีนาคม 2566 งานอบรมได้รับการตอบรับที่ดี และทางชมรมได้มีการจัดอบรมขึ้น 3-4 เดือนครั้ง
....  ในวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 คุณประพนธ์ อุดมทอง ประธานชมรมไทเก็กนครสวรรค์ ได้นำทีมสมาชิกเข้าร่วมแข่งขัน งานแข่งขันมวยไทเก็กตระกูลหยาง เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ชมรมหย่งเหนียนไท้จี๋เฉวียนตระกูลหยาง (ประเทศไทย) โดยมีเจ้าอิ้วปินเหล่าซือเป็นประธานกรรมการในการตัดสินครั้งนี้
....  ชมรมไทเก็กนครสวรรค์ ส่งทีมเข้าแข่งทั้งหมด 3 ทีม โดยแบ่งเป็น แข่งขันมวย 85 ท่า 1 ทีม และแข่งขันมวย 37 ท่า 2 ทีม
....  หลังจากการแข่งสิ้นสุด ก่อนที่จะมีการประกาศผล เจ้าเหล่าซือได้เรียกให้ทีมมวย 85 ของนครสวรรค์และหย่งเหนียนออกไปรำโชว์ พร้อมได้บรรยายถึงการรำมวยที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร และให้ดูทีมที่ออกมาโชว์เป็นตัวอย่างของหลักการที่ถูกต้อง
....  หลังจากนั้นจึงประกาศผล ทีมมวย 85 ได้รับเหรียญทอง หย่งเหนียนได้เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงมี 2 ทีม ได้แก่ ทีมจากซีอานและทีมจากหาดใหญ่
....  แม้ว่าทีมมวย 37 ของเราทั้ง 2 ทีมจะไม่ได้เหรียญกลับบ้าน แต่เหรียญทองเหรียญนี้ ที่ทีมมวย 85 ได้รับ ถือเป็นความภูมิใจของทุกคน เพราะเจ้าเหล่าซือเป็นผู้ตัดสินด้วยตัวเอง และท่านยังเดินมาเอ่ยปากชมกับพวกเรา ถึงที่นั่ง ว่าพวกเราใช้พลังได้ดี คำชมนี้สำหรับพวกเรามีคุณค่าจริงๆ เพราะนอกจากจะได้กำลังใจ ยังได้ความมั่นใจว่า ที่พวกเราฝึกฝนกันอยู่ ไม่ได้ฝึกนอกลู่นอกทาง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บัญญัต 10 ประการ มวยไทเก็กตระกูลหยาง

มวยไทเก็กตระกูลหยาง 85 ท่า

มวยแข็ง และ มวยอ่อน